วันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การเพาะแบบถุงแขวน



     สำหรับการเพาะหลินจือประเทศในย่านอาเซี่ยน ไม่ว่าไทย ลาว เวียตนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ล้วนแล้วแต่เพาะในลักษณะ "ถุงแขวน" เป็นหลัก
     หลาย ๆ คนมักมีความสงสัยเกิดขึ้น โดยความรู้สึกมักจะคิดว่า หลินจือ เริ่มที่ประเทศจีน คนจีนรู้จักหลินจือมาแต่ดึกดำบรรฑ์ จนเชื่อว่า หลินจือเพาะได้ก็แต่ประเทศจีนหรือประเทศในแถบเมืองหนาวเท่านั้น
     แต่ในความเป็นจริง หลินจือไม่ว่าเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือเพาะในประเทศเมืองหนาว เราจะสังเกตได้ว่า ต้องใช้ระยะเวลาในการเพาะนานหลายเดือนทีเดียว อย่างเช่น เพาะในญี่ปุ่น ใช้เวลาถึง 8 เดือน เพาะในประเทศจีนหรือที่ไต้หวัน ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน
     ทว่า ที่เพาะในประเทศย่านอาเซี่ยน ใช้เวลาในการเพาะประมาณ 3-4 เดือน อันเนื่องมาจากภูมิอากาศประเทศในย่านนี้ เหมาะสำหรับการเพาะหลินจือได้ดีที่สุด ในเวลาสั้นที่สุด เพราะหลินจือต้องการอุณหภูมิประมาณ 28-32 องศาเซลเซียส ความชื้น 80-90% 
     การเพาะด้วยถุงเพาะในประเทศย่านอาเซี่ยน ก็เหมือนที่ไต้หวัน โดยใช้ขี้เลื่อยเป็นอุปกรณ์สำคัญ โดยขี้เลื่อยหลักที่ใช้ก็คือขี้เลื่อยจากยางพารา แล้วก็ใส่สารอาหารประเภทรำข้าว ใส่ปุ๋ยปูนขาว เป็นต้น เมื่อคลุกเคล้าได้แล้วก็บรรจุถุง นำเข้าเครื่องนึ่งฆ่าเชื้อ ได้ที่แล้วก็นำออกจากเครื่องนึ่ง ปล่อยให้เย็น จากนั้นก็ใส่สปอร์หลินจือลงไปในถุงเพาะ แล้วนำไปแขวนในโรงเพาะ
     ระบบเพาะด้วยถุงแขวนนี้ จะมีเชือกเป็นราว เพื่อใช้แขวนถุงเพาะซ้อน ๆ เป็นชั้น ๆ ขึ้นไป จากนั้นก็จะมีการฉีดน้ำพ่นเลี้ยงถุงเพาะในโรงเพาะทุกวัน ซึ่งการฉีดพ่นน้ำก็เพื่อรักษาอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสมอยู่เสมอ
      ภายในถุงเพาะก็จะเริ่มสร้างใยเห็ด จนเต็มทั้งถุง ประมาณ 20 วัน พอวันที่ 21 หลินจือก็จะเริ่มแทงก้านดอกออกมา ตอนแรก ๆ ก้านดอกจะออกมาในลักษณะคล้าย "เขากวางอ่อน" สีขาว จากนั้นก็จะเริ่มเปลี่ยนแปลง แต่ยังเป็นสีขาวนวลเป็นหลัก แล้วจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง ประมาณ 1 เดือนก็จะเป็นสีแดง โดยขอบยังมีลักษณะสีขาว จะค่อย ๆ หายไปกลายเป็นสีแดงเข้ม หรือสีแดงน้ำตาล ซึ่งจะสุกเต็มที่ประมาณ 3-4 เดือนแล้วแต่ ๆ ละสายพันธุ์
      ถุงเพาะที่ออกดอกหลินจือ ส่วนใหญ่จะเป็นดอกเดียว แต่บางถุงอาจขึ้นมาสองดอกหรือสามดอก เมื่อหลินจือสุกเต็มที่แล้ว ก็จัดการตัดออกมาแล้ว ถุงนั้นก็ไม่เกิดงอกหลินจือขึ้นมาใหม่อีกแล้ว หมายความว่า ถุงเพาะจะเกิดดอกหลินจือได้เพียงแค่รุ่นเดียวต่อถุง ไม่เหมือนเห็ดฟางที่เด็ดออกแล้วก็จะขึ้นใหม่อีกได้ แต่หลินจือไม่มีรุ่นใหม่ของถุงนั้น ๆ งอกได้เพียงรุ่นเดียวเพียว ๆ 
     โรงเพาะหลินจือหรือเพาะเห็ดทั้งหลายในประเทศย่านอาเซี่ยน โดยส่วนใหญ่แล้วก็เป็นโรงเพาะง่าย ๆ คล้าย ๆ บ้านเรามักจะเป็นเหมือนกระท่อม หลังคามุงใบจาก เนื่องจากง่ายในการควบคุมอุณหภูมิ และยิ่งเป็นบ้านเราแล้ว บอกได้เลยว่า ส่วนใหญ่มักจะเพาะแบบไม่ได้ยืดเป็นอาชีพ ก็เลยไม่อยากลงทุนเยอะ ยังไม่มีใครกล้าที่จะทำโรงเพาะแบบหลังคามุงกระเบื้อง
      เพราะควบคุมอุณหภูมิลำบาก!

วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การเพาะบนพื้นและการเพาะซ้อนถุง

    

     หลังจากที่ญี่ปุ่นได้เริ่มการเพาะหลินจือดังที่กล่าวมาในบทที่แล้ว ตอนใหม่ ๆ ประเทศจีนและไต้หวันได้เลียนแบบวิธีการเพาะแบบญี่ปุ่น พบว่าต้องเสียเวลาในการเพาะนานเกินไป ต่อมาจึงได้มีการพัฒนาการเพาะ เพื่อให้ดอกหลินจือสุกเร็วขึ้น
     หลังจากที่ได้ปรับเปลี่ยนไปได้ระยะหนึ่ง ส่วนใหญ่ได้ลงตัวที่การเพาะดังนี้
     1. เพาะในดินเหมือนญี่ปุ่น แต่เพราะหาท่อนไม้ที่นำมาเพาะหลินจือลำบากยากเย็น ได้พัฒนาปรับเปลี่ยนมาเพาะในดินเลย แต่ไม่ใช่นำสปอร์หว่านลงในดิน โดยได้มีการปรับดินเหมือนกัน แต่ปูด้วยสิ่งเศษวัสดุที่เป็นอาหารของหลินจือ ดังเช่น ฟางข้าว ที่ได้ผ่านกรรมวิธีในการแช่น้ำ แล้านำมาปูพื้นให้หนาได้ระดับหนึง จากนั้นก็จะหว่านสิ่งที่เป็นสารอาหารบางประเภทรวมถึงปูนขาวแล้วทำการพ่นน้ำให้ชุ่มระดับหนึ่ง พร้อมกับโรยสปอร์หลินจือลงไป แล้วก็ปูฟางข้าวทับลงไป ทำในลักษณะเดียวกันเป็นชั้น ๆ จะกี่ชั้นก็แล้วแต่คนเพาะหลินจือ แต่สุดท้ายก็จะคลุมด้วยแผ่นพลาสติก แล้วปล่อยทิ้งไว้จนกว่าหลินจือจะงอกเป็นดอกออกมาในที่สุด
     2.  การเพาะแบบถุงซ้อน หมายความว่า บรรจุถุงเพาะที่เป็นขี้เลื่อยผสมสารอาหารและปุ๋ยเคมีเรียบร้อยแล้ว ผ่านการนึ่งถุงเพาะฆ่าเชื้อ แล้วนำสปอร์หลินจือหยอดเข้าไปในถุงเพาะ จากนั้นก็นำถุงเพาะไปซ้อนเรียงเป็นชั้น ๆ สูงขึ้นไป จะกี่มากน้อยก็อยู่ที่ผู้เพาะมีเนื้อที่มากน้อยเท่าไหร่เป็นสำคัญ
      ไม่ว่าเป็นการเพาะแบบญี่ปุ่นในท่อนไม้ หรือกรรมวิธีการเพาะแบบชั้น ๆ บนพื้นดินด้วยฟางข้าว หรือถุงเพาะซ้อนเป็นชั้น ๆ ส่วนใหญ่สำหรับมืออาชีพ เพื่อเป็นการเน้นเพาะแบบออร์แกนิค (ไม่สมบูรณ์ 100%) เพราะยังมีการใส่ปูนขาวหรือปุ๋ยแบบอื่น ๆ แต่เพื่อให้เห็นว่าเป็นออร์แกนิกก็ด้วยการเพาะใน "กรีนเฮ้าส์" นั่นเอง
       แต่สำหรับชาวบ้านทุนไม่หนา ก็เพาะแบบโรงเพาะคล้าย ๆ บ้านเรา เป็นโรงเรือนโล่ง ๆ แล้วคลุมหลังคาด้วยผ้าพลาสติกบ้าง ตาข่ายหรือมุ้งบ้าง เป็นต้น
       การเพาะด้วยกรรมวิธีนี้ ดอกหลินจือจะสุกเต็มที่ ต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน

วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553

วิธีการเพาะหลินจือ--เพาะด้วยท่อนไม้

  คุณทราบหรือไม่ว่า เขามีวิธีการเพาะหลินจือแบบไหนกันบ้าง?


  สมัยก่อน คนเรายังโง่อยู่ ก็เลยต้องหาหลินจือจากในป่า กลายเป็นของล้ำค่า ก็ด้วยสรรพคุณยอดเยี่ยมกระดองนั่นแหละ


  หลังสงครามโลกใหม่ ๆ คนญี่ปุ่นเริ่มได้พบกับฤทธิ์เดชของหลินจือ จนกลายเป็นประเทศที่ชาวบ้านชาวช่องทั้งหลายเสาะแสวงหามาต้มกินกันอย่างมโหฬาร


    ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า การที่คนญี่ปุ่นเชื่อเกี่ยวกับสรรพคุณของหลินจือเป็นเพราะนักวิจัยของญี่ปุ่นให้ความมั่นใจต่อหลินจือก็ด้วยงานวิจัยอย่างจริงจัง ทำการวิจัยในงานการรักษาทางคลีนิก จนพบความจริงที่คนจีนบอกว่า รักษาโรคอะไรได้ทาง นักวิจัยญี่ปุ่นต้องทึ่งต่อสิ่งที่หมอจีนโบราณกล่าวอ้างไว้ ปรากฏเป็นจริงในการรักษาคนป่วยทางคลีนิกได้ผลทุกประการอย่างชัดเจน


   กระทั่งนักวิทยาศาสตร์โภชนาการของญี่ปุ่นท่านหนึ่ง ได้ทำการค้นคว้าจนสามารถเพาะหลินจือด้วยฝีมือมนุษย์สำเร็จเป็นรายแรกของโลก แล้วทำการเผยแพร่วิธีการให้คนอื่นได้ทำการเพาะเองในเวลาต่อมา จนแพร่ไปถึงเกาหลี ไต้หวัน และจีน


   การเพาะของญี่ปุ่นก็โดยการใช้ไม้ชนิดหนึ่ง ตัดออกเป็นท่อน ๆ แล้วเจาะรู้ทั่ว จากนั้นก็นำสปอร์หลินจือหยอดลงในรูของท่อนไม้ที่เจาะเอาไว้ แล้วก็ใช้ไม้อุดรูเหล่านี้ นำไปในโรงเพาะ จนกระทั่งสปอร์หลินจือสร้างใยเห็ดได้ระดับหนึ่ง จากนั้นก็จะนำท่อนไม้ดังกล่าวไปฝังดินที่ได้ทำการเตรียมไว้แล้ว โดยโรงเพาะดังกล่าวจะมีการปรับผืนดินให้มีความสมบูรณ์


   ท่อนไม้ที่มีสปอร์หลินจือจะถูกฝังอยู่ในแปลงเพาะบนพื้น แล้วใช้วิธีแบบธรรมชาติให้เกิดหลินจือขึ้นมาเอง






   กว่าหลินจือจะงอกจนกระทั่งเป็นดอกสดสวยงดงาม


   ต้องใช้เวลานานถึง 8 เดือน อันเนื่องมาจากประเทศญี่ปุ่นอากาศเย็นและหนาว จึงต้องใช้เวลานานในการเพาะให้ดอกสุกสมบูรณ์เต็มที่


     คนญี่ปุ่นที่เพาะในลักษณะแบบนี้ เรียกว่า "เพาะด้วยท่อนไม้" พร้อมกับยืนยันว่า เป็นการเพาะดีที่สุด เพราะเป็นการเพาะที่ได้พลังจากดินที่ให้คุณประโยชน์เยอะมหาศาล


     แต่ในความเป็นจริง เป็นวิธีการเพาะที่มีคุณภาพไม่เบาเหมือนกัน

วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

หัวเรื่องนี้เป็นเนื้อหาทั่วไป

บล็อกหน้านี้ ผมได้ปล่อยทิ้งไว้นานหลายปีทีเดียว จนป่านนี้ก็ไม่รู้ว่า ทำไมถึงปล่อยไปแบบนี้ เอาเป็นว่า "โรคขี้เกียจ" โดยไม่มีคำแก้ตัวใด ๆ แหละครับ
จากนี้ไป ผมจะเข้ามาเขียนบล็อกนี้ให้มากขึ้น ตอนนี้เท่าที่ทำการแบ่งหัวเรื่องเอาไว้เคร่า ๆ ก็คือ


เรื่องทั่วไป ก็ตรงหน้านี้แหละ จะเป็นการเขียนเน้นหลินจือเป็นหลัก แต่ก็อาจเพิ่มเติมเรื่องมีสาระ ไม่มีสาระ เรื่องน่าสนใจอื่น ๆ เท่าที่อยากจะเขียน อยากจะเล่า
เรื่องตัวอย่างผลิตภัณฑ์หลินจือต่าง ๆ ประมาณ 30 ตัว
เรื่องกรณีศึกษาจากการรักษาด้วยหลินจือและสมุนไพรอื่น ๆ ร่วมด้วยช่วยกัน

เท่าที่นึกออกก็แค่นี้แหละครับ เอาเป็นว่า เมื่อท่านได้่อ่านแล้ว ได้เนื้อหาสาระแล้ว อยากให้มีอะไรเพิ่มเติมก็บอกเล่าเก้าสิบให้รู้บ้าง


เอาละครับ บอกเล่าแนะนำตัวเริ่มต้นเพียงแค่นี้่ก่อนนะครับ อย่่าลืม ติดตามเรื่องราวดี ๆ ตรงนี้แน่นอน ให้สัญญาครับ